PDA

ดูเวอร์ชั่นเต็ม : ประวัติ ขุนศึกเสมา



BEARRUSSIA
5th June 2012, 21:44
เสมา…จากลูกช่างตีดาบ สู่นักรบอหังการพิทักษ์องค์ราชา
. เมื่อคราวสงครามยุทธหัตถี ตรงกับวันแรม ๒ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเส็ง ปีพุทธศักราช ๒๑๓๕ ระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กษัตริย์อยุธยา กับพระมหาอุปราชา จากเมืองหงสาวดี บทสรุปสงครามที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทยทรงบันทึกไว้ ปรากฏความว่า “เมื่อ พ.ศ.๒๑๓๕ พระมหาอุปราชายกทัพ ๒๔๐,๐๐๐ คนมารบกรุงศรีอยุธยา...

สมเด็จพระนเรศวรฯ พระเอกาทศรถ นำกำลัง ๑๐๐,๐๐๐ คน ไปตั้งรับที่หนองสาหร่ายเมืองสุพรรณบุรี ไทยกับพม่าปะทะกันเมื่อ ๑๘ มกราคม พ.ศ.๒๑๓๕ สมเด็จพระนเรศวรฯทำนำทหารตีข้าศึกจนช้างพระที่นั่งทั้งสองพระองค์ถลำเข้าไปถึงกองทัพหลวงของพม่า ทหารไทยตามไปไม่ทัน เมื่อเผชิญหน้ากับพระมหาอุปราชา จึงท้าชนช้างกันตัวต่อตัว ช้างพระมหาอุปราชาดันช้างพระที่นั่งของสมเด็จพระนเรศวรฯ ถอยเบนไป พระมหาอุปราชาจึงจ้วงฟันด้วยของ้าว ถูกพระมาลาเบี่ยงไป ขณะนั้นช้างพระที่นั่งถอยมาถึงจอมปลวกแห่งหนึ่ง จึงมีกำลังยันดันช้างพระมหาอุปราชาเบนไปได้ล่างแบกถนัด สมเด็จพระนเรศวรฯได้ทีจึงจ้วงฟันพระมหาอุปราชาด้วยพระแสงของ้าวขาดบนคอช้าง สิ้นพระชนม์ ส่วนพระเอกาทศรถก็ชนช้างชนะ เจ้าเมืองจาปะโร แม่ทัพพม่า ฝ่ายไทยจึงได้รับชัยชนะ”

ในครั้งนั้น ยังปรากฏนามขุนทหารซึ่งทำหน้าที่เป็นหนึ่งในจาตุรคบาท นักรบประกอบฝีเท้าช้างทรงขององค์พระมหากษัตริย์ ชื่อ เสมา ได้สู้รบเคียงบ่าเคียงไหล่พิทักษ์องค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช จากวีรกรรมกันหาญกล้านี้ยังปรากฏเป็นหลักฐานไว้ในบทประพันธ์นิยายอมตะอิงประวัติศาสตร์อย่าง ขุนศึก ของ ไม้ เมืองเดิม ให้คนไทยรุ่นหลังได้ร่วมรับรู้และภาคภูมิใจความอหังการของนักรบไทยจนถึงปัจจุบัน

เรื่องมาจับความเมื่อสิบห้าปีหลังจากกรุงศรีอยุธยาได้เสียแก่พระเจ้าบุเรงนอง ก่อนวันประกาศอิสรภาพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชนั้น พระเจ้าบุเรงนอง วางอุบายหมายลองปลงพระชนม์ แม้ไม่สำเร็จแต่ก็ทำให้จาตุรงคบาทคนหนึ่งต้องถวายตัวเป็นราชพลีเสียชีวิตเพื่อพระองค์ ซึ่งยังความโทมนัสให้แก่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นอย่างมาก เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงประกาศอิสรภาพ เข้ายึดเมืองแกลงอันเป็นเมืองเชื่อมเขตแดนไทยกับพม่าแล้วทำพิธีหลั่งอุทกธาราประเทศตัดไมตรีพร้อมประจัญกับทัพหงสาวดี พม่าโกรธแค้นจึงจัดทัพยกกำลังบุกไทย สมเด็จพระนเรศวรมหาราชจึงได้มีคำสั่งออกตามหาผู้มีฝีมือและบารมีควรคู่แก่การมาแทนจาตุรงคบาทที่เสียชีวิตไป เพื่อพร้อมทำศึก

เรื่องราวของการพลิกโชคชะตาชีวิตของ เสมา ชายช่างตีดาบธรรมดาๆ จนมาเป็นนักรบประกอบฝีเท้าช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ประวัติชีวิตในวัยเยาว์นั้นไม่ปรากฎแน่ชัด ระบุเพียงว่าเป็นบุตรชายช่างตีดาบ เมื่อเติบใหญ่ได้เรียนวิชาดาบกับอาจารย์ขุน และเล่าเรียนวิชาตำรับพิชัยสงครามจากสำนักพุทไธสวรรย์ ความที่มีฝีมือดาบอันโดดเด่น จึงได้รับตำแหน่งครูฝึกทหารในเรือน ขุนราม ต่อมา เสมา ต้องอาญาทัพฐานเป็นกบฎ ด้วยฝีมือกลั่นแกล้งของหมู่ขัน หัวหมู่ทะลวงฟันที่เคยเป็นครูฝึกทหารตำแหน่งเดียวกับเสมา จนทำให้เสมาต้องหนีไปเข้ากองโจรของขุนรณฤทธิ์พิชัย กองกำลังในป่าของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

ขณะที่อยู่กับพวกกองโจร แม้จะต้องอาญาทัพฐานเป็นกบฎ แต่เสมาและกลุ่มกองโจรได้ช่วยกันสกัดทัพหน้าของพม่าที่บุกเข้ามา ครั้งหนึ่ง เสมา มีโอกาสได้เข้าช่วยพระเอกาทศรถ ในการศึก ได้ลดโทษ จากกบฎไปเป็น ตะพุ่น เลี้ยงช้าง ด้วยหัวใจของนักรบเมื่อเขาทราบข่าวการยกทัพครั้งใหญ่มาบุกไทยของพม่า เสมาทนเห็นทหารไทยถูกเข่นฆ่าล้มตายต่อไปอีกไม่ได้ ขี่ม้าเดี่ยวบุกเข้าไปช่วยในสนามรบ กระทั่งสามารถฆ่าแม่ทัพพม่าลงได้ จึงได้รับความดีความชอบกลับมา

เมื่อครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชประกาศหาจาตุรงคบาท เสมาได้เข้าร่วมประลองฝีมือหน้าพระที่นั่ง ด้วยเชิงชั้นฝีมือดาบเหนือผู้ใดจึงได้เป็นหนึ่งที่ควรคู่กับตำแหน่งจาตุรงคบาท และได้เข้าร่วมกองทัพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

ครั้นในปี พ.ศ.๒๑๓๕ พระเจ้านันทบุเรงได้โปรดให้พระมหาอุปราชายกทัพใหญ่มาตีกรุงศรีอยุธยา หวังจะเอาชนะไทยให้เด็ดขาด สมเด็จพระนเรศวรมหาราชจึงยกทัพหลวงไปตั้งรับที่หนองสาหร่าย ซึ่งศึกครั้งนี้เองที่ก่อให้เกิดสงครามยุทธหัตถีขึ้น

วันจันทร์ เดือนยี่ แรม ๒ ค่ำ ปีมะโรง พ.ศ.๒๑๓๕ สองวีรกษัตริย์ไทย ได้เข้าตีกองทัพหน้าของพม่าจนแตกหนีอลหม่าน ขณะนั้นเองช้างพระที่นั่งของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ชื่อ เจ้าพระยาไชยานุภาพ กับช้างของสมเด็จพระเอกาทศรถ ชื่อ เจ้าพระยาปราบไตรจักร ซึ่งเป็นช้างตกมั่นทั้งคู่ ได้ไล่ตามพวกข้าศึกไปอย่างเมามันทำให้กองกำลังทหารไทยตามไม่ทัน สองพระองค์ตกเข้าไปอยู่กลางวงล้อมของเหล่าข้าศึก มีแต่จตุรงคบาทนำโดย เสมา และพวกทหารรักษาพระองค์แค่เพียงหยิบมือที่ติดตามไปทัน
ครั้นเมื่อทั้งสองพระองค์กระทำยุทธหัตถีและมีชัยชนะเหนือพระมหาอุปราชาและเจ้าเมืองจาปะโรอย่างสมพระเกียรติ ปรากฏยังมีทัพพม่าเห็นเจ้านายเสียทีกรูกันเข้ามาหมายทำร้าย ใช้ปืนระดมยิงทั้งสองพระองค์ เสมา ในฐานะกองหน้าทะลวงฟัน จาตุรงคบาทและทหารรักษาพระองค์ต่างต่อสู้ด้วยความอาจหาญจนสามารถป้องกันทั้งสองพระองค์จากทัพพม่า และกองทัพไทย ตามมาแก้ทัน ในภายหลัง เสมาได้รับปูนบำเหน็จเป็น ขุนแสนศึกพ่าย

นักรบที่ทำหน้าที่ จาตุรงคบาท ถือเป็นผู้ที่มีฝีมือครบเครื่องทั้งอาวุธและฝีมือรบ เพราะต้องรับคู่ต่อสู้หลายต่อหลายคนที่เข้ามาโจมตีเท้าช้างทรงและต้องป้องกันตัวเองให้ปลอดภัย ดังเช่น เสมา แม้เป็นเพียงทหารคู่พระบาทองค์ราชัณย์ แต่ได้มอบกายถวายชีวิต ทำหน้าที่ของตนเองอย่างดีที่สุด เปรียบได้กับทหารไทยในปัจจุบันที่ต้องเป็นผู้มีชาตินักรบ มีน้ำใจเด็ดเดี่ยว ห้าวหาญและมีฝีมือการรบที่เก่งกาจเพื่อถวายการอารักขาองค์จอมทัพและดูแลผืนแผ่นดินไทยให้อยู่รอดปลอดภัย ดังเช่นพระบรมราโชวาทตอนหนึ่งของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานแก่นายทหารผู้ใหญ่ที่เข้าเฝ้าฯและทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ เนื่องในพระราชพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตน และสวนสนามของเหล่าทหารรักษาพระองค์ เนื่องในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๔๘
“…เป็นที่ทราบกันดีว่า ทหารมีหน้าที่ป้องกันประเทศ และปกป้องคุ้มครองประชาชน ให้มีชีวิตอยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นปกติสุข หน้าที่นี้ถือว่าสำคัญมาก โดยเฉพาะในระยะปัจจุบัน สถานการณ์ในบ้านเมืองเรา อาจจะกล่าวได้ว่า ไม่น่าไว้วางใจนัก เหตุเพราะภัยอันตรายและความเป็นไม่เป็นปกตินานาประการ ทหารจึงต้องสำนึกตระหนักถึงความรับผิดชอบนี้ให้ดี และทำหน้าที่ของตนให้เข้มแข็งหนักแน่นยิ่งขึ้น ซึ่งถ้าสามารถกระทำได้ครบถ้วน แท้จริงก็จะเป็นความสำเร็จ เป็นความดี เป็นเกียรติ เป็นศักดิ์ศรีของทหารไทย และกองทัพไทย ประชาชนที่จะอยู่เย็นเป็นสุข บ้านเมืองก็จะอยู่รอดปลอดภัย และดำรงอยู่ได้ในความมั่นคงสวัสดี…”
ในโอกาสวันกองทัพไทย วันที่ ๒๕ มกราคมปีนี้ กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม ขอเชิญชวนร่วมระลึกถึงวีรกรรมและคุณงามความดีของนักรบไทย และร่วมปฏิบัติหน้าที่ของเราอย่างเต็มกำลังความสามารถด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เพื่อให้บ้านเมืองเจริญพัฒนา ให้สมกับที่บรรพบุรุษและนักรบไทยได้เสียสละชีวิต เลือด เนื้อ เพื่อปกป้องและรักษาผืนแผ่นดินให้คงความเป็นไทย.


http://www.youtube.com/watch?v=Ukr-z4YJY0Q

psg1doi
7th June 2012, 17:25
สาระครับ ที่แรกเห็นเยอะๆ จะไม่อ่านแล้ว แต่พอมาอ่านดู ทำให้เข้าใจขึ้นเยอะเลย