PDA

ดูเวอร์ชั่นเต็ม : วันคล้ายวันชาตะของฟรังซัว ดูเวอเนท์ [ฟ. ฮีแลร์] บาทหลวงฝรั่งเศส ผู้แต่งตำรา''ดรุณศึกษา [18 มกราคม]



titan888
18th January 2013, 22:42
‎http://www.facebook.com/photo.php?fbid=454032891317661&set=a.435240936530190.98873.435087346545549&type=1&theater


18 มกราคม วันคล้ายวันชาตะของฟรังซัว ดูเวอเนท์ (ฟ. ฮีแลร์) บาทหลวงชาวฝรั่งเศส ผู้แต่งตำรา"ดรุณศึกษา"

ฟ.ฮีแลร์ หรือ เจษฎาธิการฮีแลร์ เป็นศาสนนามของ ฟรังซัว ดูเวอเนท์ ฟ.ฮีแลร์ เกิดที่ตำบลจำโปเมีย เมืองปัวตีเย ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2424 ได้เข้าศึกษาในโรงเรียนชั้นต้นที่ตำบลบ้านเกิด จนอายุได้ 12 ปี ความศรัทธาในพระศาสนาได้บังเกิดขึ้นในดวงจิตของท่าน ใคร่จะถวายตนเพื่อรับใช้พระเป็นเจ้าจึงได้เข้าอบรมในยุวนิสิตสถานในคณะเจษฎาจารย์เซนต์คาเบรียล ที่เมืองซังลอลังต์ ซิว แซฟร์ เพื่อร่ำเรียนวิชาลัทธิศาสนา วิชาครู และวิชาอื่น ๆ อันควรแก่ผู้จะเป็นเจษฎาจารย์ จะพึงศึกษาจนสำเร็จ แล้วจึงประกาศอุทิศตนถวายพระเจ้า บรรพชาเป็นภารดาเมื่ออายุได้ 18 ปี เพื่อให้ความรู้ในทางศาสนาได้ลึกซึ้งกว้างขวางยิ่งขึ้น

ในขณะเมื่อท่าน ฟ.ฮีแลร์ ถือกำเนิดขึ้น ณ ประเทศฝรั่งเศสมาจนถึง ค.ศ. 1885 ซึ่งมีอายุได้ 4 ขวบเศษ ๆ นั้นประเทศไทย บาทหลวงเอมิล โอคุสติน กอลมเบต์ ก็ได้จัดตั้งโรงเรียนอัสสัมชัญขึ้นในกรุงเทพฯ และได้ดำเนินกิจการเรื่อยมาด้วยดี จนถึง พ.ศ. 1900 บาทหลวงกอลมเบต์ ก็ได้เดินทางไปฝรั่งเศส เพื่อเยี่ยมบ้านเกิดของท่าน เพื่อเป็นการพักผ่อนและเพื่อเสาะแสวงหาคณะอาจารย์ที่มีความสามารถในการสอนมารับหน้าที่ปกครองดูแลรักษาโรงเรียนอัสสัมชัญต่อไป

ในการเดินทางไปประเทศฝรั่งเศสในครั้งนั้น บาทหลวงกอลมเบต์ได้ไปพบอัคราธิการของคณะเซนต์คาเบรียล ที่เมืองแซนต์ลอลังต์ และได้เจรจาขอให้เจษฎาจารย์เซนต์คาเบรียลได้รับปกครองโรงเรียนอัสสัมชัญแทน คุณพ่อกอลมเบต์ ต่อไป ซึ่งทางคณะเซนต์คาเบรียลก็ตอบตกลงด้วยดี และได้มอบให้เจษฎาจารย์ 5 ท่าน เดินทางมารับภารกิจนี้ โดยมีเจษฎาจารย์มาร์ติน เดอ ตูร์ เป็นประธาน เจษฎาจารย์ออกุสแตง คาเบรียล อาเบต และ ฟ.ฮีแลร์ เป็นผู้ร่วมคณะ ในจำนวน 5 ท่าน

เมื่อแรกเข้ามาเมืองไทย เจษฎาจารย์ฮีแลร์ เห็นจะหนักใจมากกว่าผู้อื่นในคณะ ด้วยเป็นคนหนุ่มที่สุดมีอายุเพิ่งจะย่างเข้า 20 เท่านั้น และภาษาอังกฤษก็ยังไม่คล่อง ภาษาไทยยิ่งไม่ถนัด ยิ่งไปกว่านั้นตรงที่บาทหลวงกอลมเบต์ต้องรักษาตัวที่ฝรั่งเศส ยังกลับมากรุงเทพฯ ไม่ได้ หน้าที่ที่ได้รับมอบหมายในเบื้องต้นก็คือการสอนภาษาอังกฤษ และ ภาษาฝรั่งเศส

ในขณะเดียวกันนั้นท่านก็ศึกษาภาษาไทยไปด้วยโดยมีท่านมหาทิม เป็นครู กล่าวกันว่าการเรียนภาษาไทยของท่านนั้นเรียนรู้ได้รวดเร็วมาก ด้วยความตั้งใจจริง ท่านจึงพยายามฟังเด็กไทยท่อง “มูลบทบรรพกิจ” อยู่เป็นประจำ ถึงกับหลงใหลจังหวะจะโคนและลีลาแห่งภาษาไทย เกิดมุมานะเรียนรู้ภาษาไทยจนถึงแต่งตำราสอนเด็กได้ และตำราที่ว่านั้นก็คือ “ดรุณศึกษา” นั่นเอง จากฝีไม้ลายมือในการแต่งหนังสือของท่านนั้น ทำให้สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพโปรดเชิญเข้าเป็นสมาชิกของ สมาคมวรรณคดี เมื่อวันเสาร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2475 ณ ราชบัณฑิตสภา

แม้บราเดอร์ฮีแลร์จะจากไปเมื่อปี พ.ศ. 2511 แล้วก็ตาม แต่ท่านยังได้ทิ้งมรดกทางความคิดอันทรงคุณค่า ให้อนุชนชาวไทยไว้สดับสติปัญญา เพื่อที่จะมีความอดทน ขยันหมั่นเพียร ไม่ย่อท้อต่อการศึกษาแสวงหาความรู้ อันจะเป็นประโยชน์ต่อตนเองและประเทศชาติสืบไปในภายภาคหน้า ดังคำกลอนของท่านตอนหนึ่งในหนังสือดรุณศึกษาที่ว่า “วิชาเหมือนสินค้า อันมีค่าอยู่เมืองไกล ต้องยากลำบากไป จึงจะได้สินค้ามา”

ขอบคุณแหล่งข้อมูล จากเพจชมรมประวัติศาสตร์สยาม ใน เฟซบุ้ค