PDA

ดูเวอร์ชั่นเต็ม : "อาชญากรวัยละอ่อน" อาละวาดหนัก..ผิดที่ใคร?



John Marston
21st January 2013, 13:47
"อาชญากรวัยละอ่อน" อาละวาดหนัก..ผิดที่ใคร?


http://pics.manager.co.th/Images/556000000823101.JPEG

ทุกวันนี้ ไม่เพียงแต่เด็กจะมีแนวโน้มตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมสูงแล้ว เด็กและเยาวชนกลายเป็นอาชญากรเสียเองมากขึ้นด้วย ซึ่งหากดูตามอายุแล้ว พบเด็กที่ก่อคดีมีอายุน้อยลงเรื่อย ๆ อีกทั้งคดีความผิดยังมีความแยบยล โหด*****มไม่ต่างจากคดีของผู้ใหญ่ ปัญหาเหล่านี้ ไม่ใช่เพิ่งมี แต่มีมานาน และไม่ค่อยได้รับความจริงใจ ตลอดจนความเข้าใจจากผู้ใหญ่ในการลงมาแก้ปัญหาอย่างถูกทาง

เปิดแฟ้ม "คดีเด็ก"

ในปีที่ผ่าน ๆ มา มีคดีที่เด็กและเยาวชนเป็นผู้กระทำเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ยกตัวอย่างคดีที่สะเทือนใจประชาชน พบวัยรุ่นก่อเหตุใช้ไม้เบสบอลปล้นชิงทรัพย์นักร้องหนุ่มวงเคพีเอ็น หรือคดีฆ่าปาดคอชิงทรัพย์คนขับรถแท็กซี่วัย 60 ปี บริเวณใกล้กับสุเหร่าท่าอิฐ อ.ปากเกร็ด ซึ่งเหตุการณ์สร้างความสะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นหลาย ๆ ครั้ง แทบไม่น่าเชื่อเลยว่าฆาตกรผู้ลงมือฆ่าจะเป็นเด็กวัยรุ่นอายุ 16 ปีเท่านั้น

ล่าสุดรับปีมะเส็ง (งูเล็ก) มีกรณีข่าวสะเทือนขวัญให้ประชาชนและสังคมไทยได้สลดหดหู่กันอีกครั้ง เมื่อตำรวจลุมพินี ไล่ตะครุบ 7 เยาวชนแสบ ตระเวนซิ่งมอเตอร์ไซค์ปล้นทำร้ายเหยื่อคืนเดียว 7 รายซ้อน จากการสอบสวนพบประวัติติดยาเสพติดและเคยถูกลงโทษจำคุกมาแล้ว 4 คดี โดยหัวหน้าแก๊งมีอายุเพียง 16 ปีเท่านั้น

ความน่าเป็นห่วงนี้ พ.ต.ท.แมน เม่นแย้ม รองผู้กำกับการกองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและสตรี (ดส.) ให้ข้อมูลว่า การกระทำความผิดที่เด็กและเยาวชนเป็นผู้ลงมือ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็นเยาวชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัดต่าง ๆ ซึ่ง 3 ชุมชนที่มีคดีเด็กและเยาวชนมากที่สุด คือ ชุมชนคลองเคย ชุมชนทุ่งสองห้อง และชุมชนดินแดง

ทั้งนี้ หากพิจารณาช่วงอายุของเด็กและเยาวชนที่ทำผิดมากที่สุด เมื่อเปิดไปดูผลสำรวจคดีเด็กและเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีโดยสถานพินิจฯ ทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2551-2554 จะพบว่า เด็กที่มีก่อคดีจะอยู่ในช่วง 16-18 ปี เป็นชายมากกว่าหญิงถึง 10 เท่า ส่วนสาเหตุการกระทำผิดมาจากการคบเพื่อน รองลงมาคือ ความคึกคะนอง โดยความผิดเรื่องยาเสพติด คือฐานความผิดที่เด็กและเยาวชนมักจะก่อคดีมากที่สุด รองลงมาคือ ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์สิน เช่น ปล้นทรัพย์ ชิงทรัพย์ และความผิดเกี่ยวกับชีวิต และร่างกายตามลำดับ

"ถามว่าแบบนี้มีเยอะไหม มีเยอะครับ และมีใครเข้าไปแก้ไขไหม มีครับ แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้ผล เพราะเข้าไปจับผิดกันมากกว่าให้ความรู้ด้วยความเข้าใจจริง ๆ ทำให้บางชุมชนต่อต้าน ส่วนตัวมองว่า ถ้าเป็นไปได้ อยากให้องค์กรของรัฐ และเอกชนเข้าไปช่วยด้วยความจริงใจ และต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มเด็กในสถานรับเลี้ยงเด็กของชุมชนต่าง ๆ ซึ่งเป็นกลุ่มที่สำคัญมาก เนื่องจากการปลูกฝังให้เด็กรู้ว่าเรื่องไหนดี ไม่ดีก่อนจะไปเรียนรู้สิ่งไม่ดีจากพี่ ๆ หรือผู้ใหญ่รอบตัว นับว่าเป็นเรื่องที่จะต้องช่วยกันครับ" รอง ผกก.ดส.เผย

เด็กบ้านแตก ตัวเร่ง "อาชญากรเด็ก"

หากสาวให้ลึกลงไปถึงปัญหา ส่วนหนึ่งคงต้องยอมรับว่า พื้นฐานครอบครัวคือปัจจัยที่สำคัญ ยิ่งครอบครัวไทยเปลี่ยนสภาพจากครอบครัวขยายมาเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น รวมไปถึงครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวก็มีแนวโน้มสูงไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นการหย่าร้าง การเสียชีวิตของคู่สมรส ซึ่งครอบครัวอย่างหลังมีความเสี่ยงต่อการเกิดพฤติกรรมในทางลบของเด็กและเยาวชนได้มาก หากพ่อแม่ไม่เข้าใจ หรือขาดสติในการเลี้ยงดู เด็กอาจตกเป็นเหยื่อของความชั่วร้าย และนำไปสู่การเป็นยุวอาชญากร หรืออาชญากรเด็กในอนาคตได้สูง

"เด็ก และเยาวชนที่กระทำความผิดทุกวันนี้ ยิ่งตัวเล็ก ยิ่งแสบ หลาย ๆ คดี พบเด็กอายุน้อยลงก่อเรื่องมากขึ้น บางความผิด แค่ 13 ก็เป็นหัวหน้าแก๊งกันแล้ว ส่วนหนึ่งเป็นเด็กในชุมชนแออัดที่พ่อแม่ไม่มีเวลาอบรมเลี้ยงดู เนื่องจากต้องทำงานหาเงิน ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยทำอาชีพค้าขาย และส่วนใหญ่ต้องทำงานดึก ส่งผลให้ลูกออกไปแว้น และถูกเพื่อนชักนำไปในทางไม่ดีได้ง่าย โดยเฉพาะเด็กอายุน้อย ๆ ที่อาจถูกรุ่นพี่ในชุมชนเสี้ยมสอนให้ทำสิ่งชั่วร้าย เพราะเห็นเป็นเรื่องเท่ และเก๋า" รองผกก.ดส.ชี้

สอดรับกับสถิติชุดหนึ่ง จัดทำโดยกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนที่นำประเด็นพื้นฐานครอบครัวไปพิจารณาชีวิตความเป็นอยู่ของเยาวชนที่ถูกส่งตัวเข้าสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ ยืนยันให้เห็นว่าคำกล่าวข้างต้นยังเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้

ข้อมูลแนวโน้มคดีเด็ก และเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีโดยสถานพินิจฯ ทั่วประเทศ ระหว่างปี พ.ศ. 2542-2551 พบว่า ในช่วง 10 ปี เด็กและเยาวชนที่กระทำผิดจนถูกส่งตัวเข้าสถานพินิจฯ มีพื้นฐานมาจากครอบครัวที่พ่อและแม่แยกกันอยู่มากกว่าครอบครัวที่พ่อและแม่ใช้ชีวิตร่วมกัน พูดง่ายๆ คือ แนวโน้มแสดงให้เห็นชัดเจนว่า เยาวชนที่ก่ออาชญากรรม กระทำผิด ฝ่าฝืนกฎหมาย เป็น "เด็กบ้านแตก" มากกว่าเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่มีทั้งพ่อและแม่ รวมทั้งสถิติล่าสุดในปี 2551-2554 ก็ตอกย้ำเช่นเดียวกัน

"อย่างน้อย ๆ พ่อแม่ต้องพยายามอย่าให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่า คงไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากให้ลูกเป็นเด็กแว้น เด็กไม่ดี เพราะถ้าเด็กได้รับการศึกษา เด็กจะมีสติยั้งคิดยั้งทำ ดีกว่าไม่ได้รับการอบรมสั่งสอนอะไรเลย แล้วพวกเขาจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้อย่างไร ทุกวันนี้เราแก้ปัญหากันที่ปลายเหตุ เด็กทำผิดก็แค่ถูกส่งเข้าสถานพินิจฯ แต่จะดีกว่าไหม ถ้ามาช่วยกันปูพื้นฐาน อบรมเลี้ยงดู และใส่ใจพวกเขาตั้งแต่เด็ก ๆ" รองผกก.ดส.เผย

นี่คือบทพิสูจน์ถึงความสำคัญของ "สถาบันครอบครัว" ที่ส่งผลต่อสุขภาวะของสังคมอย่างไม่อาจปฏิเสธได้

"ครอบครัวไทยในปัจจุบันกำลังถูกกระแส และค่านิยมต่างๆ ในสังคมพัดพาไปจนหลงลืมเป้าหมายที่แท้จริงของคำว่าครอบครัว และเมื่อมองจากสภาพปัญหาของเด็กและเยาวชนในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกหรือการกระทำในรูปแบบต่างๆ ที่สังคมไม่ยอมรับนั้น ก็ล้วนแต่มีที่มาหรือจุดเริ่มต้นจากครอบครัวทั้งสิ้น" ศ.พญ.นงพงา ลิ้มสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชเด็กวัยรุ่นและครอบครัว ที่ปรึกษาของโรงพยาบาลมนารมย์ยืนยันในประเด็นเดียวกัน

ดังนั้น "ไม่มีมนุษย์คนไหน เกิดมาเพื่ออยากเป็นคนเลว และไม่มีมนุษย์คนไหนที่จะคว้าความเป็นอาชญากรมาจากมดลูกแม่" นี่คือสิ่งที่ ทิชา ณ นคร หรือ ครูมล ผอ.ศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน บ้านกาญจนาภิเษก จ.นครปฐม เคยพูดเอาไว้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า การที่เด็กจะเป็นใครสักคนในประเทศ ดีหรือร้าย ขาวหรือดำ ล้วนมีปัจจัยแวดล้อมทั้งในระดับใกล้ตัว และไกลตัวที่ต่างกัน ครอบครัวคือส่วนสำคัญที่จะต้องเข้าใจ และปรับวิธีคิดไปตามความเปลี่ยนแปลงของช่วงวัยลูก โดยเฉพาะสิทธิส่วนบุคคล ถือเป็นสิทธิอันศักดิ์สิทธิ์ที่พ่อแม่ต้องเคารพ

นอกจากนั้น การแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ต้องเริ่มจาก "พ่อแม่" ที่จะต้องหาความรู้คู่กับความรัก และความสุข ถ้าช่วงใดที่เกิดทะเลาะ หรือมีเรื่องกระทบกระทั่งกัน ขอให้รีบกลับมาคืนดีให้เร็วที่สุด โดยพยายามมองหาสิ่งดี ๆ ที่เคยมีให้กันมาชดเชยสิ่งที่มันผิดพลาด ซึ่งเป็นทฤษฎีเอาน้ำดีไล่น้ำเสียที่ อี้-แทนคุณ จิตต์อิสระ ในฐานะคุณพ่อลูกหนึ่งให้ความสำคัญมาก เพราะถ้าหากต่างคนต่างไม่ยอมกัน ก็อาจจะเสียเวลาอันมีค่าระหว่างนั้นไป

ว่าด้วย "กฎหมายดำเนินคดีกับเด็ก-เยาวชน"

เป็นประเด็นที่มีการพูดถึงกันมากเกี่ยวกับกฎหมายการกระทำผิดของเด็กและเยาวชนตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 ที่มุ่งเน้นเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองสิทธิ สวัสดิภาพและวิธีปฏิบัติต่อเด็ก เยาวชน สตรี และบุคคลในครอบครัว โดยหลาย ๆ ฝ่ายมองว่า กฎหมายที่เกี่ยวกับการกระทำผิดของเด็กและเยาวชนในปัจจุบัน มีบทลงโทษที่อ่อนเกินไป ไม่รัดกุม ทั้งยังมีเงื่อนไขที่อาจทำให้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่มีความยากลำบาก ส่งผลให้เด็กและเยาวชนบางกลุ่ม เคยชินกับการกระทำความผิดซ้ำซากจนยากจะเยียวยา

"กฎหมายมีส่วนทำให้การทำงานของเจ้าหน้าที่เป็นไปได้ยากลำบาก เพราะต้องคำนึงถึงหลักสิทธิคุ้มครองเด็กและเยาวชน แต่ในบางกรณี การเห็นเด็กกระทำความผิดซึ่งหน้า และไม่มีอำนาจในการใส่กุญแจมือ เจ้าหน้าที่บางคนกลับถูกเด็กรุมทำร้าย ส่วนตัวมองว่า กฎหมายอ่อนไป ควรเพิ่มบทลงโทษ เพราะเยาวชนทำผิดรุนแรงมากขึ้น ซึ่งนอกจากเด็กแล้ว ควรโยงไปถึงพ่อแม่ผู้ปกครองด้วย เพื่อจะได้ใส่ใจ และดูแลบุตรหลานให้มากกว่านี้" รอง ผกก.ดส.เผย

ด้านความเห็นหนึ่งในเฟซบุ๊ก เขียนถึงเรื่องนี้ว่า "ทุกวันนี้ไม่มีอะไรที่จะทำให้เราต้องกลัวมาตั้งแต่เด็กเลย ไปโรงเรียนครูห้ามตี อยู่บ้านพ่อแม่ห้ามด่า มันเป็นจุดเริ่มต้นของความไม่กลัวอะไรมาตั้งแต่เด็ก ทำผิดไม่ต้องรับผิด ไม่ต้องลงโทษ นั่นเป็นเรื่องของกฎหมายบ้านเมืองที่สั่งสมให้เด็กคิดว่าการกระทำผิดไม่ใช่เรื่องที่เลวร้ายอะไร เมื่อเด็กไม่กลัวกฎหมายโตขึ้นแล้วจะกลัวกฎหมายได้อย่างไร เราๆท่านๆก็คอยตามแก้ปัญหากันต่อไป บทลงโทษควรจะมีสำหรับเด็กเพื่อให้เกิดความเกรงกลัวและเข็ดหลาบบ้างก็ดี บ้านนี้เมืองนี้อาจจะดีขึ้นกว่านี้เพราะมีเด็กและเยาวชนที่ดีมีคุณภาพมาตั้งแต่เด็กๆ อย่ามัวมองแต่เรื่องคุ้มครองสิทธิเด็กมากเกินไปจนเป็นการทำร้ายพวกเขาทางอ้อมเลยนะผมว่า"

หรืออีกหนึ่งความเห็นที่มองคล้าย ๆ กันว่า "ยุคสมัยเปลี่ยนไปแล้ว ตอนนี้อายุไม่ถึง 15 พ่อแม่คุมไม่ได้แล้ว แถมความก้าวร้าวรุนแรงขึ้น ความอดทน ยับยั้งชั่งใจไม่มี และชอบเลียนแบบ ดูได้จากคลิปเด็ก ๆ ตบตีกันอย่างน่ากลัว ส่วนตัวคิดว่าการดำเนินคดีควรต้องดูความร้ายแรงของความเสียหายเป็นองค์ประกอบด้วย ไม่ใช่คิดได้แค่ โถ.. ยังเล็กนัก นอกจากนี้การเยียวยาผู้เสียหายควรดำเนินให้ถึงที่สุดและมีมาตรฐานเดียว (ดูกรณีแพรวา 9 ศพ) น่าสังคายนากฎหมายไทยและการบังคับใช้ รวมถึงการพิจาณาคดีที่ล่าช้าได้แล้ว พอหมดอายุความไปไม่เห็นเจ้าหน้าที่คนไหนมารับผิดชอบ ไม่ใช่คิดเห็นใจแต่ผู้กระทำผิด ให้คิดถึงผู้เสียหายด้วยจึงจะยุติธรรม"

แต่ถ้าถามไปถึงผู้ใหญ่ใจอนุรักษ์ บางท่านยืนยันไม่เห็นด้วย เพราะการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชนเป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหาเพื่อให้เด็กและเยาวชนมีโอกาสกลับตัวเป็นคนดีและป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของชาติกระทำความผิดซ้ำอีก

ไอเดียเพื่อ "อนาคตของชาติ"

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เด็กกลุ่มเสี่ยงที่จะกลับไปทำความผิดได้อีก เริ่มมีจำนวนมากขึ้น แต่ในทางกลับกันกลับไม่มีการดูแลเด็กกลุ่มนี้เท่าที่ควร ผิดกับประเทศตะวันออกอย่าง "ญี่ปุ่น" ที่คิดโครงการบ้านทดแทนขึ้นมา โดยสมมติบ้านหลังใหม่ให้กับเด็ก ๆ ที่กระทำผิด เป็นการนำเด็กไปอยู่กับครอบครัวของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเป็นสามีภรรยาและลูก เพื่อให้เด็กเรียนรู้อย่างถูกแบบแผน และรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งในสมาชิกของครอบครัว เรียนรู้กับกรอบการใช้ชีวิตอย่างที่ควรจะเป็น ไม่ใช่ถูกทอดทิ้ง

แนวคิดดังกล่าว ดูเหมือนจะน่าสนใจไม่น้อย แต่ถ้าจะนำมาใช้ในประเทศไทย ธวัชชัย ไทยเขียว อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เคยให้สัมภาษณ์ว่า เราอาจสร้างเป็นบ้านพักเด็กกลุ่มเสี่ยง เพื่อลดปัญหาการกลับไปกระทำผิดได้อีก หรือปฏิเสธที่จะอยู่กับครอบครัวให้สามารถอยู่ที่นี่ได้จนเรียนจบ และให้มีที่อยู่จนสามารถเอาตัวรอดได้ด้วยตัวเอง หรืออาจสร้างเป็นบ้านพักชั่วคราวให้แก่เด็กที่ก้าวพลาด คือเด็กที่ไม่มีเจตนากระทำผิด และไม่ได้มีความผิดร้ายแรงก็ไม่ควรอยู่ในสถานพินิจ เป็นต้น

ปัญหา "นักปล้น-นักฆ่าวัยละอ่อน" หรือโจรในคราบเด็ก เป็นความผิดของใครนั้นก็ลองพิจารณากันดูเถิด แต่ตอนนี้คงไม่ใช่เวลามากล่าวโทษ หรือฟื้นฝอยหาตะเข็บกันอีกแล้ว สิ่งที่ควรทำคือ หันหน้าเข้ามาช่วยกัน เริ่มง่าย ๆ จากความรักความเข้าใจในสถาบันครอบครัว รวมไปถึงความจริงใจ และความจริงจังของผู้ใหญ่ในสังคม หากปล่อยให้ปัญหาเรื้อรังต่อไป เด็กและเยาวชนไทยอาจกลายไปเป็นผู้กระทำผิดต่อเนื่อง และอาจสร้างปัญหาที่ไม่คาดคิดตามมาอย่างไม่มีที่สิ้นสุดก็เป็นได้





:thank:thank:thank:thank:thank



ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9560000007891

sertnalove
21st January 2013, 14:00
สอนให้กลับตัวมันยาก กว่าจะคิดได้ก็คงเก็บไปอีกหลายศพ ฆ่าทิ้งเลยง่ายดี !

bboyemperor
21st January 2013, 14:26
ส่วนใหญ่จะเริ่มที่ครอบครัวซะส่วนใหญ่นะ
แล้วก็อยู่ที่สภาพแวดล้อมด้วยนะ
แต่ผมว่าพ่อแม่นี่แหละสำคัญที่สุด :)

peak5306
21st January 2013, 14:55
ผิดที่พ่อแม่นั้นล่ะ ถ้าไม่พร้อมที่จะมีความรับผิดชอบในการดูแลลูก

แล้วปล่อยปะละเลย ขนาดนี้จะมีทำไมมันทำร้ายเยาวชนทางอ้อมชัดๆ

แล้วก็โทษสังคมโทษสื่อโทษเกม....คุณไม่สามารถเลี้ยงดูแลเขาได้

แล้วคุณจะให้เขาเกิดมาทำไม ?

bonusz
21st January 2013, 16:31
บางทีก็ผิดที่ครอบครัว ขาดความอบอุ่น พ่อแม่ไม่มีเวลาให้

หรือไม่ก็ผิดที่การคบเพื่อน ซึ่งตัวอย่างเพื่อนผมมีเยอะแยะ

และส่วนใหญ่จะเสียคนตอนช่วง ม.2-3 กำลังคึก ซึ่งผมก็เกือบเป็นมาแล้ว

harnibal409
21st January 2013, 20:49
มันอยู่ที่สถาบันครอบครัวมากกว่าที่เหตุการณ์ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นตอนกลางคืนซึ่งเป็นเวลาที่เด็กควรอยู่กับพ่อ แม่
แต่มันกลายเป็นเวลาที่เด็กเหล่านี้ใช้เวลาไปกับการสร้างความเดือดร้อนให้กับคนอื่นพอโดนจับก้ต้องเดือดร้อนพ่อแม่
มาประกันตัวผมไม่รู้หรอกน่ะว่ากลับบ้านไปแล้วพ่อแม่จะอบรมเด้กด้วยรึป่าว