PDA

ดูเวอร์ชั่นเต็ม : วิชา...ที่ไร้ประโยชน์ !?



aczaa
27th October 2014, 15:29
“แล้วมันใช้ประโยชน์อะไรได้?” เป็นประโยคที่หล่นจากปากของนายกรัฐมนตรีแห่งอังกฤษหลังจากดูสาธิตกลไกการทำงานของไฟฟ้ากับแม่เหล็กโดยนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่ง

นักวิทยาศาสตร์คนนั้นชื่อ ไมเคิล ฟาราเดย์ เป็นผู้ค้นพบความลับเกี่ยวกับไฟฟ้ามากมายหลายเรื่อง งานของเขาล้ำยุค แต่ดูไม่มีประโยชน์อะไร

ฟาราเดย์ผู้นี้มีชาติกำเนิดต่ำต้อย ฐานะยากจนมาก เขาเรียนไม่จบชั้นประถมเพราะครูเห็นว่าเขาเป็นเด็กทึ่ม

เขาอาจไม่ได้กลายเป็นนักวิทยาศาสตร์หากมิใช่เพระเขาทำงานในร้านทำปกหนังสือ มีโอกาสผ่านตาหนังสือจำนวนมากมาย

เขาอ่านหนังสือทุกเล่มที่ผ่านมืออย่างกระหาย และพบว่าตัวเองรักวิทยาศาสตร์ เขาเรียนเองทุกอย่าง ค้นคว้าทดลองเกี่ยวกับไฟฟ้าแทบทุกอย่างที่จินตนาการของเขาโลดแล่นไปถึง

::::::::::::::::::

โลกต้นศตวรรษที่ 19 รู้จักไฟฟ้าแล้ว แต่ไม่รู้ว่าจะใช้ประโยชน์จากมันได้อย่างไร งานของฟาราเดย์ก้าวหน้าเกินกาล

เขารู้ว่าเขากำลังก้าวไปสู่พื้นที่ใหม่ที่โลกไม่เคยเห็นมาก่อน แม้ว่าเขาจะสร้างชื่อเสียงในระดับหนึ่ง แต่คนในยุคของเขามองไม่เห็นคุณค่าของงานของเขา เป็นที่มาของคำถามของนายกรัฐมนตรีข้างต้น

ผ่านไปอีกหนึ่งร้อยปี มนุษย์รู้เรื่องเกี่ยวกับไฟฟ้าหมดแล้ว และเริ่มทำความเข้าใจกับอะตอมและอนุภาค โลกเคลื่อนเข้าสู่ยุคอวกาศ แต่คำถามแบบเดิมก็ยังคงอยู่

ทุกครั้งที่มีการส่งจรวดออกนอกโลก มีเสียงคำถามดังขึ้นเสมอว่า “ส่งจรวดไปนอกโลกทำไม ในเมื่อประชาชาตินับพันล้านคนอดอยาก มีคนอดตายทุกวัน เอาเงินค่าทดลองจรวดไปช่วยคนพวกนั้นไม่ดีกว่าหรือ?”

ทุกครั้งที่นักวิทยาศาสตร์ศึกษาเรื่องอะตอมและอนุภาคชื่อประหลาด ๆ หลายคนบอกว่า “แล้วมันใช้ประโยชน์อะไรได้?”

::::::::::::::::::

นอกจากเรื่องการค้นคว้าทดลองทางวิทยาศาสตร์แล้ว คนจำนวนมากยังตั้งคำถามเกี่ยวกับการศึกษาวิชาเลขคณิต เราขาคณิต พีชคณิต ตรีโกณมิติ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ปรัชญา ฯลฯ ว่า

“เรียนวิชาบ้าพวกนี้ไปทำไมก็ไม่รู้ ไม่เห็นต้องใช้”

คนส่วนมากเรียนหลายวิชาเหล่านี้ในโรงเรียน แล้วไม่ได้นำไปใช้ประกอบอาชีพในตอนโตแต่อย่างไร

จริงหรือไม่ที่เราเรียนวิชาบ้าพวกนี้ไปทำไมก็ไม่รู้? จำเป็นแค่ไหนที่เราต้องรู้วิชาที่ “รู้ไปทำไม?”

::::::::::::::::::

บางทีมันขึ้นกับว่าเราอยากเป็นมนุษย์แบบไหน และเราอยากได้สังคมแบบใด

เราเป็นสัตว์โลกที่รู้จักมองไกลไปในอนาคต เราคาดการณ์ปัญหาก่อนที่มันจะเกิดขึ้นจริง มันเป็นกระบวนการหนึ่งเพื่อความอยู่รอดของเรา

ยิ่งเรารู้มากเท่าไร โอกาสรอดของสายพันธุ์ก็สูงขึ้นและมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่การจะทำอย่างนี้ได้ เราต้องมีองค์ความรู้ที่กว้างพอ

องค์ความรู้ระดับนี้มาจาก...ความหลากหลายของความคิด

ความหลากหลายของความคิดมาจาก...การรู้รอบด้านและทดลองหาทางสายใหม่

การรู้รอบด้านและทดลองหาทางสายใหม่มาจาก...การวางรากฐานเด็ก ๆ ด้วยการเรียนรู้ทุกวิชาก่อน

ความรู้ไม่ใช่ผลไม้ที่มีอยู่แล้วในป่ารอเราไปเก็บ มันไม่พอที่จะสร้างสังคมที่สมบูรณ์ขึ้น เราต้องการผลไม้ใหม่ ๆ ที่เราต้องค้นหาหรือสร้างขึ้นมาเอง

และหนทางไปสู่ความรู้ใหม่ ๆ ก็คือการทดลองเรื่องประเภท ‘ทำไปทำไม?’ เช่นที่ ไมเคิล ฟาราเดย์ ทำ

::::::::::::::::::

ในวันนั้นเมื่อนายกรัฐมนตรีอังกฤษถามเขาว่า “แล้วมันใช้ประโยชน์อะไรได้?” ฟาราเดย์ตอบว่า “แล้วทารกแรกเกิดใช้ประโยชน์อะไรได้?”

บุคคลสำคัญและผู้สร้างสรรค์สิ่งสำคัญของโลกทุกคนล้วนเป็นทารกไร้ประโยชน์มาก่อนทั้งสิ้น! งานนวัตกรรมทุกชิ้นเป็นทารกแรกเกิด มันอาจโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่สมบูรณ์ หรืออาจตายเสียก่อน เราไม่มีทางรู้จนกว่าจะลองเลี้ยงทารกคนนั้น

‘ทารกแรกเกิด’ ที่ดูไร้ประโยชน์ของฟาราเดย์กลายเป็นรากฐานให้ เจมส์ คลาร์ก แมกซเวลล์ สานต่อ แล้วต่อมาเป็นรากฐานให้ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ พัฒนาความคิดของเขา ต่อยอดกลายเป็นการค้นพบอันยิ่งใหญ่แห่งสหัสวรรษ!

::::::::::::::::::

หากปราศจากผลงานที่ ‘ใช้ประโยชน์อะไรได้?’ ของ ไมเคิล ฟาราเดย์ ในวันนั้น และหากปราศจากการส่งจรวดไปนอกโลกและการศึกษาอนุภาค จักรวาล หลุมดำ ฯลฯ โลกเรายามกลางคืนในวันนี้ก็ยังคงเป็นโลกมืดมิดเช่นเมื่อล้านปีก่อน

โลกวันนี้จะไม่มี พัดลม, เครื่องซักผ้า, ตู้เย็น, นาฬิกา, เครื่องดูดฝุ่น, ปั๊มน้ำ, เครื่องเล่นดีวีดี, เครื่องพิมพ์, โทรทัศน์, ดาวเทียม, คอมพิวเตอร์, อุปกรณ์ทางการแพทย์, ระบบการสื่อสารทั่วโลก, ระบบ LED ฯลฯ

ทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจประดิษฐ์ ทั้งหมดนี้เป็นผลพลอยได้จากการค้นคว้าทดลองที่ ‘ใช้ประโยชน์อะไรได้?’ ล้วน ๆ !

:::::::::::::::

แต่ละวิชาในโลกดูแตกต่างกัน แต่ทุก ๆ ศาสตร์เชื่อมต่อกัน คณิตศาสตร์เชื่อมกับฟิสิกส์ ชีววิทยาเชื่อมกับเคมี เคมีเชื่อมกับกายวิภาคศาสตร์ ประวัติศาสตร์เชื่อมกับภูมิศาสตร์ ฯลฯ

การรู้เพียงจุดเดียวทำให้โลกทรรศน์ของเราไม่กว้างพอ การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์จำเป็นต้องได้มีความรู้รอบด้าน

ความรู้เป็นตัวขยายสมอง เปิดโลกทรรศน์ เปิดประตูสู่ดินแดนใหม่ๆ เราต้องไม่กลัวก้าวไปสู่พื้นที่ใหม่ พื้นที่ที่ไม่มีใครเคยไปมาก่อน

ปริมาณและคุณภาพของความรู้และปัญญาจะกำหนดว่าเราเป็นมนุษย์แบบไหน วิชาการต่าง ๆ จึงจำเป็นต่อเรา

และแม้ว่าความรู้ที่มีอยู่ในโลกตอนนี้เรียนทั้งชีวิตก็ไม่หมด แต่มันก็ยังน้อยเกินไป! ยังมีความรู้ใหม่ ๆ ที่ยังไม่เกิดขึ้นรอเราอยู่ และความรู้เหล่านั้นอาจเปลี่ยนมนุษยชาติและสรรพชีวิตในโลกในทางที่ดีขึ้น

::::::::::::::::::

ดังนั้นการมองการเรียนด้วยมุมมองเดิม ๆ มุมมองเดียวจึงอาจพลาดโอกาสได้ ประโยค “เธออ่านอะไรยากจัง” “รู้ไปทำไม?” “เรียนไปทำไม?” เหล่านี้ทำลายโอกาสการสร้างนวัตกรรมมามากแล้ว

แน่ละ มันย่อมไม่ใช่ความผิดของคนถาม “มันใช้ประโยชน์อะไรได้?” และ “รู้ไปทำไม?”

เพราะความสามารถมองไกลกว่าสิ่งที่โลกมี สิ่งที่โลกเป็น และมองเห็นสิ่งที่ไม่เคยมีอยู่ในโลกนั้นไม่ง่ายเลย

โดยเฉพาะคนที่ไม่มีความรู้รอบตัวมากพอ ไม่เปิดสมองกว้างพอ และไม่เปิดใจกว้างพอ

::::::::::::::::::

บนโต๊ะทำงานของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ วางรูปถ่ายของบุคคลสามคนที่เป็นไอดอลของเขา ไอแซค นิวตัน, ไมเคิล ฟาราเดย์ และ เจมส์ คลาร์ก แมกซเวลล์
เตือนใจเขาว่าเขากำลังยืนอยู่บนรากฐานของคนรุ่นก่อนซึ่งคิดค้นสิ่งที่ดูเหมือนไร้ประโยชน์ รอให้เขาสานต่อเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ความรู้ต่อยอดความรู้ คลื่นต่อยอดคลื่น

กระบวนการต่อยอดทางปัญญาหยุดเมื่อไร ไม่เพียงเราจะเดินถอยหลัง แม้แต่มนุษยชาติก็อาจสิ้นสุดไปด้วย

::::::::::::::::::

Credit บทความ : วินทร์ เลียววาริณ | www.winbookclub.com

Credit ภาพประกอบ : http://meghan1311.files.wordpress.com/…/school_subjects_ico…

Dreamm
27th October 2014, 15:33
จินตนาการสําคัญกว่าความรู้

จาก ไอไสตน์

แต่ความรู้ทำให้จินตนาการเป็นจริง

BoonTew
27th October 2014, 15:43
เรียนไปก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือโง่จนใช้ประโยชน์จากวิชาที่เรียนมาไม่ได้

wanloveea
27th October 2014, 15:48
?แล้วมันใช้ประโยชน์อะไรได้? -- ในที่นี้หมายถึง เรื่องที่เขาศึกษาเกี่ยวกับไฟฟ้า หรือว่าพวกเรื่อง ฟิสิก เคมี หรอครับ - หรือว่าทุกเรื่องที่เขาศึกษาเลย

ผมนี่....ต้องไห้ Google ช่วยเลยว่า "ไมเคิล ฟาราเดย์" คือใคร

kachanking
27th October 2014, 16:08
ปัจจุบันคำถามนี้ก็ยังคงอยู่คับ

คนที่ติดตามเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์คงจะรู้ดีว่าตอนนี้เราคนพบ "อนุภาคฮิกส์" เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และคนที่ให้กำหนดทฤษฎีเกี่ยวกับการมีตัวตนของอนุภาคฮิกส์ก็ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปี 2013 ด้วย

แน่นอนว่ามันต้องมีคนถามว่า เราทุ่มทุนสร้าง LHC กว่าหมื่นล้านเหรียญสหรัฐขึ้นมาเพื่อพิสูจน์ว่าอนุภาคฮิกส์มีจริงหรือไม่ ตอนนี้เราพบแล้วว่ามันมีจริง.... มีจริงแล้วยังไงละ เราเอามันมาใช้ประโยชน์อะไรได้ไหม

นักวิทยาศาสตร์ที่นั่นก็ตอบว่า "ถึงตอนนี้เราจะยังหาหนทางที่จะนำความรู้เกี่ยวกับอนุภาคฮิกส์มาใช้ประโชยน์ใดๆไม่ได้เลย แต่ในอนาคตต้องมีคนทำได้แน่"

เงินหมื่นล้านเหรียญอาจจะดูไร้ค่าในตอนนี้ แต่มันอาจสร้างประโยชน์ที่ไม่อาจประเมินค่าได้ในอนาคต

ถ้าในอนาคตมันทำคุณประโยชน์ได้มากกมายมหาศาลจริง เดี๋ยวคนในอนาคตก็จะมายกย่องคนในอดีตเอง แต่ถ้าไม่มีใครนำความรู้ตรงนี้ไปใช้ประโยชน์ได้เลย ทุกคนก็จะลืมมันไปเอง


ปล. แนวคิดข้างต้นใช้ไม่ได้กับคำถามที่ว่า เราเรียนนาฏศิลป์ไปทำไม เราเรียนศาสนาไปทำไม เราเรียนกีฬาไปทำไม ซึ่งเป็นคำถามที่ผมชอบถามตัวเองตอนอยู่ประถม/มัธยมต้น ก่อนที่จะมารู้คำตอบตอนเรียนมัธยมปลายว่า ประเทศไทยเราใช้การเรียนการสอนขั้นพื้นฐานจนถึง ม.3 แบบหว่านแห (สอน****ทุกอย่าง) เด็กจะได้รู้ว่าตัวเองถนัดอะไร ไม่ถนัดอะไร ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร เวลาไปเรียนต่อจะได้เลือกถูก อย่างผมเลือกเรียนสายวิทย์/คณิต มันก็กลายเป็นว่านาฏศิลป์ที่ผมเรียนไป = ไร้ประโยชน์ ผมไม่ได้เอานาฏศิลป์ไปประกอบวิชาชีพ/ทำมาหากินเลย ตรงกันข้ามกับนางรำที่เรียนคณิตศาตร์ ตรีโกณ ชีวะ เซลล์ บลาๆ = ไร้ประโยชน์ เพราะนางรำไม่ได้ใช้ความรู้ตรงนี้ในการทำมาหากินเลย วันๆอย่างมากก็บวก ลบ คูณ หาร

liger0000
27th October 2014, 17:14
1.การศึกษามันเรียนจนเป็นวิชาเกินคับ อีกอย่างเรียนแล้วไม่รู้จักนำมาประยุกษ์ก็ไร้ประโยชย์ ชักเจนสุดคือพวกวิศวะคับ จบมาส่วนใหญ่ก็เป็นนักจัดซื้อมากกว่านักประดิษฐ์แล้วจะเรียนไปทำไม อีกอย่างวิชาที่เรียนส่วนใหญ่ก็เรียนเกินกว่าที่ควรจะเรียน เช่นให้หมอไปเรียนทฤษฎีดนตรี ให้วิศวะไปเรียนแต่งกลอน ให้ศิลปินไปเรียนระบบสมการ คือต่างประเทศที่โดยเฉพาะฝั่งยุโรปเขาไม่เรียนลึกมากนักหรอกคับในชั้น ประถมหรือมัธยม เขาจะเรียนลึกๆจริงๆคือระกับมหาลัยขึ้นไป แต่ประเทศไทยเอาเนื้อหามหาลัยมาสอนม.ต้น ซึ่งมันไม่จำเป็นต้องเรียนมากกว่า คณิตศาสตร์บางตัว วิทยาศาสตร์บางตัวมันก็จำเป็นแต่แต่ส่วนใหญ่ถ้าไม่ใช่สาขาเฉพาะมันก็เอามาใช้ไม่ได้
2.หลายวิชามันล้าสมัยและหมดประโยชย์แล้วคับเช่น พวกวรรณคดีหรือโครง ฉันต์ กาพ กลอน เรียนไปทำไม รวมถึงวิชาพุทธศาสนาด้วย ศาสนาเป็นความเชื่อส่วนบุคคลไม่ควรนำมาบรรจุในหลักสูตรด้วยซ้ำ แถมยังลงลึกแค่พุทธอย่างเดียว จริงๆต้องเป็นวิชาศาสนาเปรียบเทียบมากกว่าคับ
3.หลายวิชามัน ข้อมูลเป็นเท็จและเป็นPropagandaเช่น วิชาสังคม
4.บางวิชาก็มีปัญหา เช่นวิชาการงานซึ่งเป็นวิชาปฎิบัติแต่ต้องสอบทฤษฎี