PDA

ดูเวอร์ชั่นเต็ม : เมื่อเกมเป็นจำเลย สังเวยระบบคิดสื่อ และสังคมไทย



KHNN-K860
4th June 2015, 15:34
เมื่อเกมเป็นจำเลย สังเวยระบบคิดสื่อ และสังคมไทย

http://img.online-station.net/_news/2015/0529/84135_07_1.jpg

เมื่อ “เกม” เป็นจำเลย สังเวยระบบคิดสื่อและสังคมไทย
ณ บ่ายวันหนึ่ง...
บ.ก. play: “ทำไมสังคมชอบโทษวิดีโอเกมทุกครั้งเวลามันมีข่าวอะไรไม่ดีด้วยวะ?”
ผม: “ไม่รู้สิพี่ คนบ้านเรายังไม่เปิดใจยอมรับวิดีโอเกมกันมั้ง”
บ.ก. play: “งั้นเดือนนี้เอ็งเขียนคอลัมน์เกี่ยวกับเรื่องนี้ก็แล้วกัน”

และจากบทสนทนานี้เอง ผมเลยต้องไปค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับว่า ทำไมกัน...เวลามีเรื่องราวฉาวโฉ่อะไรเกี่ยวกับเกม เกมก็จะต้องตกเป็นจำเลยของสังคมในการถูกใส่ร้ายป้ายสีทุกที เป็นผู้ร้ายที่ไร้ข้อโต้แย้งเสมอในข่าวสารอันสะเทือนขวัญที่ผ่านหูผ่านตาเราไปอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ราวกับว่าเกมเป็นสารเสพติดชนิดหนึ่งซึ่งเมื่อออกฤทธิ์ก็จะทำให้ผู้เสพต้องก่ออาชญากรรมอะไรทำนองนั้นเลยทีเดียว ซึ่งเอาเข้าจริงๆ มันเป็นประเด็นบอบบางอะไรก็ไม่รู้ที่ผมไม่ค่อยอยากจะแตะสักเท่าไหร่ เพราะแค่คิดถึงเรื่องนี้ทีไร อารมณ์ก็มักจะตามมาทุกที

เรื่องนี้เมื่อศึกษาลงไปจริงๆ แล้วนั้น มันไม่ใช่แค่ในเมืองไทยหรอกนะครับ แม้แต่ต่างประเทศเองก็ยังมีคนที่มองว่าเกมเป็นสิ่งชั่วร้าย ลูกเด็กเล็กแดงควรจะหนีหายถอยห่างให้ไกล น่ารังเกียจ อะไรประมาณนั้นเลย

ในฐานะเกมเมอร์พอฟังแบบนี้ทุกครั้งก็รู้สึกขุ่นเคืองอยู่ในใจทุกครั้ง อาจจะระบายออกพูดได้บ้างไม่ได้บ้างก็แล้วแต่สถานการณ์ สิ่งแรกที่เราอาจจะคิดเหมือนๆ กันก็คือ เจ้านักข่าวพวกนี้อีกแล้วที่ไม่รู้เรื่องราวอะไรก็โทษเกมไว้ก่อน เพราะมันเร็ว มันง่าย และเกมมันไม่เถียงกลับ ด่าให้ตายก็ไม่มีใครหน้าไหนออกมาโวยวายเดือดร้อนหรือแก้ต่างให้วิดีโอเกมอยู่แล้ว


http://img.online-station.net/_news/2015/0529/84135_04_1.jpg

ทุกวันนี้วิดีโอเกมในบ้านเรายังถูกมองว่าเป็นเรื่องของเด็ก เป็นของเล่น ชุดความคิดนี้เป็นชุดความคิดที่ค่อนข้างจะล้าสมัยเป็นอย่างมากแล้ว ปัจจุบันวงการเกมมีเม็ดเงินหมุนเวียนปีละเป็นหมื่นล้านเหรียญ มันคือธุรกิจขนาดใหญ่ที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายมากมาย ทั้งผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย มาร์เก็ตติ้ง โฆษณาประชาสัมพันธ์ ฯลฯ ดูยังไงมันก็ไม่ใช่ของเล่นเด็กมานานแล้วครับ

การจะแก้ปัญหาเรื้อรังนี้ได้จะต้องทำอย่างบูรณาการทั้งระบบ ไม่ใช่แค่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องเป็นการช่วยเหลือและร่วมมือกันของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกมเมอร์ทั้งหลายที่ถือเป็นหัวใจสำคัญซึ่งจะต้องผลักดันเรื่องนี้ไปด้วยกัน
ผมมักจะพูดอยู่เสมอว่า “วิดีโอเกมคืองานศิลปะ” ที่ควรจะได้รับการยอมรับ ไม่ต่างจากดนตรี ภาพยนตร์ รายการทีวี หรือหนังสือที่อ่านๆ กัน ถามว่าวันนี้บ้านเรามีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในจุดนี้ได้อย่างดีบ้างแล้วหรือยัง?

ในบ้านเราก็เคยมีการพูดถึงละครหรือภาพยนตร์ว่าเป็นบ่อเกิดของความรุนแรงเหมือนกันครับ ที่นางร้ายหรือตัวอิจฉากรีดร้องดังเสียงหลง ไล่ตบนางเอกเช้าเย็น พระเอกที่เอะอะไม่รู้จะเคลียร์กับนางเอกยังไงก็ข่มขืน รวมถึงฉากโป๊เปลือยของหนังที่ใส่มาแบบมีความหมายบ้างไม่มีความหมายบ้าง หรือในสมัยสัก 30-40 ปีก่อน ดนตรีเฮฟวี่เมทัลถูกคนชี้นิ้วด่าว่าเป็นดนตรีของผีห่าซาตานมาเกิด หรือในยุคสมัยหลัง ดนตรีฮิพฮอพถูกมองว่าก้าวร้าวรุนแรง หนังสือฆาตกรรมนิยายสยองขวัญฆาตกรรมโหด*****มที่เข้าถึงแก่นของความบ้าวิปริตอำมหิตดำมืดในจิตใจคนก็มีวางขายอยู่ทั่วไป หาอ่านได้ง่ายและไม่มีใครหวงห้าม ก็เคยเป็นสิ่งที่ผู้คนหวาดกลัว


http://img.online-station.net/_news/2015/0529/84135_02_1.png
http://img.online-station.net/_news/2015/0529/84135_05_1.png

วิดีโอเกมก็มีสิ่งที่คล้ายกับของที่ผมกล่าวมาข้างต้นครับ เพราะมันคืองานศิลปะที่เกิดจากจินตนาการของผู้สร้าง ซึ่งอาจกระตุ้นความเหงาเศร้าสร้อยจนต้องหลั่งน้ำตา โกรธแค้นเกรี้ยวกราดจนตาแดงก่ำ ดีใจตื้นตันจนต้องหัวเราะร่าน้ำตารินได้เหมือนๆ กัน เพียงแต่งานศิลปะเหล่านั้นผ่านการทดสอบแห่งกาลเวลามานานกว่าวิดีโอเกมของเราหลายเท่านัก ผ่านการพิสูจน์ตัวเองและต่อสู้กับอคติของสังคมมานาน จนทำให้สถานะของผลงานเหล่านั้นแตกต่างจากสิ่งที่พวกเราเกมเมอร์ทั้งหลายรัก ในขณะที่ผลงานศิลปะแขนงอื่นเหล่านี้เติบโตขึ้นจนเจริญงอกงามกลายเป็นกลุ่มสังคมที่มีสิทธิมีเสียงมีพลัง ได้รับการควบคุมดูแลกันอย่างจริงจัง มีการเซ็นเซอร์เนื้อหาที่ไม่เหมาะสมได้ มีการจำกัดอายุผู้เสพ แต่วิดีโอเกมของเรานั้นยังอยู่ในขั้นแบเบาะ เดินเตาะแตะ ไร้หลักยึด ไม่มีปากเสียงและไม่มีใครสนใจอยู่เช่นเคย (เรื่องมาตรฐานของการเซ็นเซอร์ จริงๆ ผมบ่นได้อีกเป็นหน้ากระดาษ แต่เอาไว้วันหลังเถอะ)

ESRB (Entertainment Software Rating Board) ในอเมริกา หรือ PEGI (Pan European Game Information) ในยุโรป และ CERO (Computer Entertainment Rating Organization) ในญี่ปุ่น ต่างก็เป็นองค์กรอิสระที่ถูกจัดตั้งขึ้นมากันเองเพื่อควบคุมดูแลและจัดเรตให้กับวิดีโอเกมทุกเกมที่มีวางจำหน่ายในภูมิภาคที่ตัวเองมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ ว่าเหมาะกับกลุ่มผู้เล่นอายุเท่าไหร่ ทุกเพศทุกวัย เด็กโตขึ้นไป หรือเฉพาะผู้ใหญ่เท่านั้น ใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด ไม่มีอำนาจบังคับตามกฎหมายอะไร แต่ทุกคนก็ได้ประโยชน์จากองค์กรนี้ ย้ำอีกครั้งนะครับ! องค์กรเหล่านี้เป็นองค์กรเอกชนที่จัดตั้งขึ้นมากันเองด้วยคนธรรมดาล้วนๆ เพื่อทำหน้าที่ดูแลลูกหลานของเราๆ ท่านๆ ที่สักวันหนึ่งก็ต้องกลายเป็นพ่อคนแม่คน อาจจะมีลูกที่ชอบเล่นเกมที่จะช่วยกันสอดส่องคัดกรองเนื้อหาของเกมแทนเรา ผมก็ไม่เห็นว่าหากเราเอาจริงเอาจังกันจริงๆ ทำไมเราจะตั้งองค์กรแบบนี้ขึ้นมาบ้างไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ภาครัฐเมินเฉยมาทุกยุคทุกสมัยแบบนี้


http://img.online-station.net/_news/2015/0529/84135_03_1.jpg

อีกด้านหนึ่งก็คือ ตัวเกมเมอร์อย่างเราๆ เองที่ต้องช่วยกันเป็นกระบอกเสียงให้กับวิดีโอเกมครับ เราควรทำความเข้าใจกับคนรอบตัวว่าวิดีโอเกมไม่ใช่เรื่องเสียหาย หากเราใช้มันเป็นความบันเทิงแต่พอดี มันก็ไม่ได้ทำร้ายใคร (ผมหมายถึงว่าความบันเทิงทุกชนิดก็ควรเสพแต่พอดีทั้งนั้นนะครับ) เพื่อที่จะค่อยๆ เปลี่ยนทัศนคติของสังคมให้เข้าใจพวกเราได้เร็วขึ้น อย่าอายที่จะประกาศตัวว่าเป็นเกมเมอร์

ผมมีคนรู้จักอยู่คนหนึ่งที่ทำงานเกี่ยวกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีหน้ามีตาในวงสังคม แกเคยบอกไว้ว่า ตนเองไม่สามารถประกาศตัวว่าเป็นเกมเมอร์ได้ เพราะมันจะกระทบกระเทือนต่อภาพลักษณ์ที่ดูน่าเชื่อถือของเขา ผมก็เข้าใจในมุมของเขานะ ที่มีอาชีพหน้าที่การงานที่ดูดีและชื่นชอบการเล่นเกม แต่ดันไม่สามารถประกาศว่าตัวเองเป็นเกมเมอร์ได้ เพราะกลัวคนอื่นจะมองไม่ดี หาว่าทำอะไรไร้สาระ แต่มุมมองแบบนี้นี่แหละครับที่พวกเราต้องช่วยกันชำระมันออกไปจากสมองของคนรอบข้าง จะเป็นหมอ เป็นทนายความ เป็นวิศวกรก็เป็นเกมเมอร์ได้ครับ มันไม่ผิด ตราบใดที่เราทำหน้าที่ของเราเรียบร้อยดีอยู่แล้ว เราต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับคนรอบตัว พิสูจน์ให้เขาเห็นว่าการเล่นเกมหรือเป็นเกมเมอร์มันไม่ใช่เรื่องเลวร้าย แต่การที่เอะอะไม่รู้จะโทษใครก็มาลงที่วิดีโอเกมต่างหากที่เป็นเรื่องที่น่าละอายและเลวร้ายยิ่งกว่า


http://img.online-station.net/_news/2015/0529/84135_10_1.jpg

จริงอยู่ที่วิดีโอเกมเป็นงานอดิเรกที่ไม่ได้ดูเท่แบบเล่นดนตรีหรือเล่นกีฬา เล่นแล้วอาจดูแล้วไม่สง่างาม ดูเท่ หรือสาวกรี๊ด แต่มันเป็นหินลับปัญญา ฝึกความว่องไว ความเฉียบคมให้กับเราได้เป็นอย่างดีเลยล่ะครับ ถ้ากีฬาหรือดนตรีเหล่านั้นฝึกฝนฝีมือร่างกาย วิดีโอเกมก็ฝึกสมองของเราเช่นเดียวกัน
และที่จะลืมไปไม่ได้เลยก็คือ ปัญหาที่เกิดจากตัวบุคคล มันก็เป็นเรื่องของปัจเจก ไม่ควรนำมาเหมารวม คนที่เสพงานศิลปะใดๆ แล้วไม่อาจแยกแยะได้ว่า สิ่งนี้ถูกสร้างมาเพื่อความบันเทิงหรือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงกันแน่ แสดงว่าคนๆ นั้นมีปัญหาแล้วครับ แต่มันเป็นปัญหาของสังคมโดยรวมทั้งหมดที่จะต้องช่วยกันดูแลและแก้ไข ไม่ใช่โยนมาให้เป็นความผิดของใครคนใดคนหนึ่ง ไม่เช่นนั้นแล้ว...


คนฟังเพลงปลุกเร้าแล้วอยากเสพยา...เพลงผิด?
คนดูทีวีมีฉากข่มขืน ภาพโป๊เปลือย...ทีวี/หนังผิด?
อ่านหนังสือแล้วเกิดอารมณ์...หนังสือผิด?
เล่นเกมแล้วออกไปทำเลียนแบบ...เกมผิด?

สรุปแล้วคุณจะไม่ผิดอะไรเลยใช่ไหม? ทำไมไม่คิดบ้างว่าสภาพจิตใจ สภาพแวดล้อมของสังคมรอบตัว ครอบครัวที่ดูแลใส่ใจกับตัวคนๆ นั้นมันดีเพียงพอแล้วหรือยัง? ไม่เช่นนั้นแล้วต่อให้หนังสือที่ขายได้มีแต่หนังสือธรรมะ รายการทีวีที่ฉายได้มีแต่พระเทศน์ เพลงที่ฟังได้คือเพลงสวดมนต์ ให้เป็นแบบนั้นจริงๆ สังคมนี้มันก็ไม่มีทางที่จะมีแต่คนดีขึ้นมาได้หรอกครับ

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการสร้างสังคมที่มีวิจารณญาณขึ้นมา สร้างภูมิคุ้มกันให้กับคนไม่ให้อ่อนไหวไปกับอะไรที่ไร้เหตุผล หรือเชื่อโดยไม่พิสูจน์และไม่มีหลักฐาน หลักการต่างๆ ที่เคยยึดติดหรือฝังแน่นในหัว ไม่ว่าจะกับเรื่องอะไรก็ตาม เมื่อกาลเวลาและเหตุผลได้ทดสอบมันแล้วปรากฏว่ามันเป็นหลักการหรือแนวคิดที่ไม่ถูกต้อง การเปลี่ยนแปลงหลักการนั้นเสียใหม่เป็นเรื่องที่กระทำได้ ไม่ได้เป็นความผิด ไม่ได้เสียหายหรือน่าอายตรงไหน คนที่ใจกว้าง ยอมรับว่าเคยผิดและปรับตัวได้ต่างหากที่น่ายกย่อง


http://img.online-station.net/_news/2015/0529/84135_09_1.jpg

ให้โอกาสวิดีโอเกมและช่วยมองเกมเมอร์อย่างพวกเราในทางที่ดีเถอะครับ เพราะสิ่งดีงามที่งานศิลปะทั้งหลายทำสำเร็จมานานหลายร้อยหลายพันปีมาแล้วก็คือ มันช่วยสร้างแรงบันดาลใจ มีเด็กกี่คนแล้วที่ฝันว่าโตขึ้นมาอยากเป็นซูเปอร์ฮีโร่ ช่วยเหลือสังคมและทำความดีอย่างตัวการ์ตูนที่เขาชื่นชอบ มีเด็กกี่คนแล้วที่เรียนรู้ภาษาอังกฤษ/ญี่ปุ่นจากวิดีโอเกมได้มากกว่าการเรียนกับคุณครูในโรงเรียน...ทีงานวันเด็กล่ะดันให้เด็กจับปืนจริง ขึ้นรถถังได้ พวกคุณไม่กลัวกันเหรอครับ? เริ่มคิดเริ่มทำจริงจังกันเสียตั้งแต่วันนี้เถอะครับ อย่ารอให้มีโศกนาฏกรรมครั้งใหม่เกิดขึ้นให้ใครต้องเศร้าโศกเสียใจกันอีก และใครจะรู้ว่าครั้งต่อไปมันอาจจะเป็นคนใกล้ตัวเราก็ได้ เราไม่ควรจะต้องมาโทษผู้สื่อข่าวที่มักง่ายกันอีกต่อไปแล้ว เพราะทุกคนก็มีส่วนผลักดันให้สังคมของเรามันน่าอยู่ขึ้นมาได้ครับ


Credit: http://www.online-station.net/feature/feature/15970

game2255
4th June 2015, 16:26
เป็นหัวข้อที่้อยากให้ทุกคนได้อ่าน ไม่ว่าจะพวกไหนก็ตาม ปัญหาที่เกิดขื้นล้วนมาจากตัวบุคคลทั้งนั้น แต่ชอบมาโทษเกม เฮ้อออออ!