PDA

ดูเวอร์ชั่นเต็ม : สมรภูมิรบ สงคราม Warterloo



siamzone
23rd July 2011, 17:08
การรบที่ Waterloo เป็นการรบที่มีชื่อเสียงมากครั้งหนึ่ง เนื่องจากเป็นสงครามครั้งสุดท้ายของพระเจ้านโปเลียนที่ต้องทรงประสบความพ่ายแพ้ จนต้องสละราชบัลลังก์ไปตลอด มูลเหตุของสงครามคงต้องท้าวความไปถึงการปฏิวัติฝรั่งเศสและการขึ้นครองราชย์ของพระองค์เลย กล่าวโดยพยายามจะให้ย่อคือ หลังการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789 (พ.ศ.2332) ล้มล้างราชวงศ์บูร์บอง ฝรั่งเศสเกิดความระส่ำระสายมาตลอด เนื่องจากกลุ่มอำนาจเก่าคือเชื้อสายราชวงศ์บูร์บองก็ยังหวังที่จะกลับคืนสู่อำนาจ (จะเรียกว่าคลื่นใต้น้ำได้หรือเปล่าก็ไม่ทราบ) บรรดาประเทศรอบข้างซึ่งยังปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ต่างก็กลัวการปฏิวัติจะแพร่ระบาดมายังประเทศตน ในช่วงเวลานี้ นโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte) ได้ก้าวขึ้นมาเป็นวีรบุรุษจากการทำสงครามปราบปรามผู้นิยมราชวงศ์บูร์บอง การรบกับออสเตรีย และการรบในอิยิปต์ ต่อมาได้โค่นล้มคณะผู้อำนวยการ (Directory) ที่ปกครองฝรั่งเศส ได้รับเลือกเป็นกงสุลคนที่หนึ่ง และสถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิ์จากการลงคะแนนในปี 1804 (พ.ศ.2347) จากนั้นได้ทำสงครามขยายพระราชอำนาจเรื่อยมา จนกระทั่งทรงประสบความพ่ายแพ้ครั้งสำคัญในรัสเซีย ในปี 1812 (พ.ศ.2355) ปีถัดมาทรงพ่ายแพ้ที่เมือง Leipzig ในเยอรมัน และถูกกองทัพพันธมิตร 4 ชาติรุกเข้ามาจนเกือบถึงปารีสในปี 1814 (พ.ศ.2357)


http://www.iseehistory.com/images/1180621483/FrenchInfantryMarching.jpg


กองทหารราบฝรั่งเศษ ของจักรพรรติ นโปเลียน


วันที่ 30 เมษายน 1814 เมื่อจอมพลเนย์ ขุนศึกคู่พระทัยได้กดดันให้พระจักรพรรดิ์นโปเลียนยอมรับข้อเสนอของข้าศึกที่จะให้สละราชสมบัติ แล้วเสด็จไปยังเกาะเอลบา (Elba) ในเมดิเตอร์เรเนียน พร้อมด้วยราชองครักษ์ 1,000 คน ที่สุดก็ต้องทรงยอมเนื่องจากทรงทราบว่าทหารกองสุดท้ายของพระองค์ได้พ่ายแพ้ต่อกองทัพออสเตรียแล้ว เสด็จไปเมื่อเดือนพฤษภาคม 1814 แต่แล้วอีก 10 เดือนถัดมา จักรพรรดิ์นโปเลียนได้สเด็จหนีจากเกาะเอลบากลับมายังฝรั่งเศส จอมพลเนย์ได้ทูลพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ซึ่งครองราชย์แทนนโปเลียน อาสาที่จะไปจับนโปเลียนมาถวาย แต่เมื่อกองทัพของจอมพลเนย์กับกองทหารของนโปเลียนเผชิญหน้ากัน นโปเลียนได้กล่าวกับทหารของจอมพลเนย์ว่า "ถ้าอยากจะฆ่าจักรพรรดิ์ของเจ้า ข้าอยู่นี่แล้ว" ทหารของจอมพลเนย์ไม่ยอมลั่นไกปืนยิงนโปเลียน กลับวิ่งเข้าไปต้อนรับพระองค์ จอมพลเนย์จึงต้องยอมจำนน และพานโปเลียนกลับมาครองราชย์ดังเดิม

สงครามจึงเริ่มต้นปะทุขึ้นอีก เมื่อกองทัพอังกฤษนำโดยดุ๊กออฟเวลลิงตัน (Arthur Wellesley, 1st Duke of Wellington) กับกองทัพปรัสเซีย (Prussia แคว้นหนึ่งในเยอรมัน มีเบอร์ลินเป็นเมืองหลวง ซึ่งต่อมาจะเป็นแกนนำในการรวมชาติเยอรมัน) นำโดยจอมพลบลือเชอร์ (Gebhard Leberecht von Blücher ) ขุนพลวัย 72 นำกองทัพมาที่ประเทศเบลเยียม เพื่อเตรียมทำสงคราม แต่แทนที่จะรวมกำลังกันกลับแยกกันเดินทัพ ในคืนวันที่ 15 มิถุนายน 1815 (พ.ศ.2358) ขณะที่เวลลิงตันกับบรรดานายทหารกำลังมีงานเลี้ยงเต้นรำกันในกรุงบรัสเซล นโปเลียนได้ทรงจัดกองทัพเข้ามาโจมตีกองทัพปรัสเซียของบลือเชอร์ ที่ ชักโตวา (บทความในวิกิพีเดียกลับเขียนว่า Charleroi) เมื่อเวลลิงตันทราบข่าว จึงรีบประชุมขุนศึก ตรวจดูจากแผนที่แล้วจึงตกลงใจที่จะรับศึกครั้งนี้ที่ Waterloo


http://www.iseehistory.com/images/1180621483/Wellington.jpg


กองทัพอังกฤษนำโดย Duke of Wellington

เวลลิงตันเดินทัพมาถึง Waterloo ในขณะที่จอมพลบลือเชอร์กำลังเสียทีกองทัพนโปเลียน และถอนทัพออกสนามรบเพื่อไปสมทบกับอังกฤษ ด้านนโปเลียนทรงไม่พอพระทัยที่แม่ทัพของพระองค์ไม่ได้ติดตามกองทัพปรัสเซียให้ทันท่วงที และสั่งให้นายพลกลูชี่นำกำลังประมาณ 1 ใน 3 ออกตามล่าบลือเชอร์ ทางเวลลิงตันเองก็พยายามประสานงานให้บลือเชอร์นำกองทัพมาสมทบให้ได้โดยเร็วที่สุด ท่ามกลางสภาพอากาศที่มีแต่พายุฝนกระหน่ำตลอด ทั้งฝ่ายอังกฤษและฝรั่งเศสต้องตั้งทัพพักแรมรอการรบในวันถัดไป

เช้าวันรุ่งขึ้น ซึ่งตามประวัติศาสตร์ระบุว่าเป็นวันที่ 18 มิถุนายน 1815 (พ.ศ.2358 - แสดงว่าอังกฤษเดินทัพมาสองวัน ซึ่งในเรื่องกลับไม่มีซับไตเติ้ลบอก) นโปเลียนต้องพบศัตรูหรืออุปสรรครายแรกที่ไม่ใช่อังกฤษหรือปรัสเซีย แต่เป็นสภาพธรรมชาติที่แม้ท้องฟ้าจะแจ่มใสไร้เมฆฝนและพายุ และฝนที่ตกหนักมาทั้งคืนทำให้พื้นดินเต็มไปด้วยโคลน ซึ่งจะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเคลื่อนที่ของปืนใหญ่ ทำเอาไม่เป็นอันเสวยพระกระยาหารเช้า อีกรายหนึ่งคือโรคปวดพระนาภี (ท้อง) ในประวัติศาสตร์ที่เคยอ่านมาระบุว่าเป็นโรคประจำพระองค์ถึงกับมีคนตั้งข้อสังเกตว่า ภาพวาดของพระองค์ขณะประทับยืนมักจะทรงอยู่ในท่าล้วงกระเป๋า ทรงคลำพระนาภีที่ปวดอยู่บ่อยๆ นั่นเอง เป็นอันว่าต้องรอให้พื้นแห้งซึ่งคาดว่าเป็นประมาณเที่ยง ระหว่างนั้นแต่ละฝ่ายก็มีการตั้งแถวเตรียมพร้อม มีการร้องเพลงและตะโกนปลุกใจต่างๆ นานา


http://www.iseehistory.com/images/1180621483/FrenchArtilery.jpg


กองทหารปืนใหญ่ฝรั่งเศษ


http://www.iseehistory.com/images/1180621483/BritishCavalry.jpg


กองทหารม้าอังกฤษ


ในที่สุด นโปเลียนได้ตัดสินพระทัยเปิดฉากการโจมตีทางขวาเพื่อหยั่งเชิงข้าศึก เสียงปืนใหญ่ฝรั่งเศสเริ่มขึ้นเมื่อเวลา 11.35 น. (ใครเรียนโหราศาสตร์มาลองเอาไปผูกดวงดูนะครับ พิกัดของ Waterloo ท่านว่าอยู่ที่แลตติจูด 50 องศา 40 ลิบดา 45 พิลิบดาเหนือ ลองกิจูด 4 องศา 24 ลิบดา 25 พิลิบดาตะวันออก) ทั้งสองฝ่ายได้พยายามเดินหมากแก้เกมกันไปแก้เกมกันมาอยู่หลายตลบ ส่วนใหญ่นโปเลียนพยายามล่อหลอกให้เวลลิงตันถลำตัวออกมา แต่เวลลิงตันไม่ยอมหลงกลง่ายๆ ทำเอานโปเลียนทรงอึดอัดไม่น้อย แต่ก็ค่อยอัดเวลลิงตันด้วยกลวิธีต่างๆ จนค่อยๆ น่วมไปเรื่อยๆ สิ่งที่แต่ละฝ่ายเครียดเหมือนกันคือ ทางนโปเลียนก็รอว่าเมื่อไหร่กองทัพกลูชี่จะกลับมา ขณะที่ทางเวลลิงตันก็รอบลือเชอร์อยู่เหมือนกัน จนถืงจุดหนึ่ง นโปเลียนทรงปวดพระนาภีขึ้นมาอีกจนแพทย์ต้องนำเสด็จไปพักที่โรงนาแห่งหนึ่ง ในขณะที่กำลังได้เปรียบแท้ๆ ด้านเวลลิงตันเริ่มเห็นท่าจะแย่ สั่งให้ทหารทั้งหมดถอยหลังไป 100 ก้าว จอมพลเนย์เห็นเป็นโอกาสก็นำกองทหารม้าลุยเข้าไป ทางอังกฤษก็เตรียมพร้อมอยู่เหมือนกัน ทหารราบที่ตั้งแถวเป็นรูปสี่เหลี่ยมรออยู่หลายกอง ยิงต่อสู้ทหารม้าฝรั่งเศสอย่างดุเดือด นโปเลียนทรงค่อยยังชั่วกลับมาพบว่าทหารม้าลุยเข้าไปโดยไม่มีกองหนุนก็พิโรธหนัก แต่การรบยังคงดำเนินต่อไปจนกระทั่ง เวลา 18.00 น. กองทัพฝรั่งเศสสามารถยึดที่มั่นที่ Hougoumont ได้สำเร็จ



http://www.iseehistory.com/images/1180621483/FrenchCavalry.jpg


กองทหารม้าฝรั่งเศษ


http://www.iseehistory.com/images/1180621483/BirdEyeView.jpg

กองทหารม้าฝรั่งเศสโจมตีทหารราบอังกฤษที่ตั้งแถวเป็นรูปสี่เหลี่ยม


ขณะที่เวลลิงตันกำลังจะเสียท่า กองทัพฝรั่งเศสกำลังดาหน้ากันเข้ามาเตรียมบดขยี้ ขุนพลเฒ่าบลือเชอร์กับกองทหารปรัสเซียก็โผล่ออกมาจากป่าพอดี นำทัพตีกระหนาบทหารฝรั่งเศส จังหวะเดียวกันนี้ เวลลิงตันก็ส่งสัญญาณให้ทหารราบกองสุดท้ายที่แอบซ่อนเอาไว้ตั้งนาน โผล่ออกมาระดมยิงใส่กองทัพฝรั่งเศสอีกแรงหนึ่ง เสียงปืนของเหล่าทหารอังกฤษในหนังตอนนี้ช่างดังคล้ายปืนกลซะจริง ทหารฝรั่งเศสที่กำลังดาหน้าเข้ามาล้มตายเป็นใบไม้ร่วง เมื่อสถานการณ์คับขันสุดจะแก้แล้ว บรรดาขุนพลฝรั่งเศสจึงต้องนำพระเจ้านโปเลียนเสด็จหนีออกจากสนามรบไป ที่น่าเศร้ายังมีทหารฝรั่งเศสกลุ่มหนึ่งที่ไม่ยอมหนี ทหารอังกฤษให้โอกาสวางอาวุธก็ไม่ยอม เลยต้องสังหารด้วยปืนใหญ่จนตายหมด ผลของสงครามนองเลือดครั้งนี้ นอกจากจะทำให้นโปเลียนพ่ายแพ้อย่างยับเยินหมดโอกาสครองบัลลังก์ต่อไปแล้ว ยังสร้างความสะเทือนใจให้กับเวลลิงตัน ซึ่งกว่าจะชนะได้ก็สูญเสียขุนศึกคู่ใจไปทีละคนๆ จนเกือบหมด ถึงกับสาบานว่าจะรบเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว (ประวัติจริงเท่าที่อ่านผ่านๆ ท่านก็ไม่ได้คุมกองทัพรบกับใครอีก แล้วมาได้เป็นนายกรัฐมนตรีในปี 1828 หรือ พ.ศ.2371 ครับ)



http://www.iseehistory.com/images/1180621483/FrenchInfantryAttacking.jpg


กองทหารราบฝรั่งเศสเดินหน้าหมายบดขยี้กองทัพเวลลิงตันก่อนสถานการณ์พลิก



http://www.iseehistory.com/images/1180621483/AfterMath.jpg


ชัยชนะของ เวลลิงตัน ต่อทหารฝรั่งเศษของ จักรพรรตินโปเลียน อย่างราบคาบ



Credit:iseehistory