การรักษารากฟัน (หมอชาวบ้าน)

วันนี้ ทพญ.ศศพินทุ์ เจณณวาสิน จะมาคลายข้อสงสัยเกี่ยวกับการรักษารากฟันที่คุณผู้อ่านถามเข้ามากันค่ะ ไปดูสิว่า คำถามคืออะไร

คำถาม : ดิฉันมีอาการปวดฟันประมาณ 1 อาทิตย์และมีตุ่มหนองที่เหงือกด้วยค่ะ ปวดมากกินอะไรไม่ค่อยได้ และจะปวดหนักตอนกลางคืน ดิฉันต้องไปถอนฟันหรือรักษาอย่างไรบ้างคะ

คำตอบ : เรื่องของสุขภาพปากและฟันเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องดูแล โดยเฉพาะอาการฟันผุและปวดฟันที่ไม่สามารถอุดได้ อาจต้องได้รับการดูแลด้วยการรักษารากฟัน ซึ่งเป็นการรักษาที่เกิดขึ้นกับระบบโพรงประสาทฟัน จนเกิดการอักเสบและติดเชื้อตามมา หากไม่รักษาอาจลุกลามเข้าสู่กระดูกเบ้าฟันและช่องเนื้อเยื่อบริเวณใบหน้าได้

อาการที่บ่งชี้ว่ามีการอักเสบติดเชื้อภายในโพรงประสาทจนต้องรักษารากฟัน เช่น มีอาการปวดฟันรุนแรงและยาวนาน เมื่อโดนความร้อนหรือความเย็น หรือปวดฟันโดยไม่มีสิ่งกระตุ้นซึ่งมักจะเป็นเวลานอน ลักษณะของฟันมีสีคล้ำผิดจากฟันซี่อื่น

สำหรับการรักษารากฟัน จะเริ่มจากการกรอฟันเพื่อเปิดทางเข้าจากตัวฟันไปถึงโพรงประสาทฟันที่อักเสบ ขยายคลองรากฟันให้ใหญ่ขึ้น ล้างทำความสะอาดและใส่ยาฆ่าเชื้อโรค เมื่อโพรงประสาทฟันสะอาดดีแล้ว ทันตแพทย์จะอุดปิดโพรงประสาทฟัน โดยใช้วัสดุจำพวกยางอุดตั้งแต่ปลายรากฟันถึงพื้นโพรงประสาทฟันและปิดทับด้วยวัสดุทางทันตกรรม ทิ้งระยะเพื่อรอดูอาการ ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพของฟัน และเมื่อแน่ใจว่าการรักษารากฟันประสบความสำเร็จ ก็จะทำการบูรณะฟันตามความเหมาะสมต่อไป

ทั้งนี้ การรักษารากฟัน คนไข้ต้องมารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ปกติจะใช้เวลารักษาประมาณ 2-4 ครั้ง และการรักษารากฟันจะช่วยเก็บรักษาฟันไว้ใช้งานได้ต่อไป ดีกว่าถอนฟันแล้วใส่ฟันปลอมชนิดถอดได้ทดแทน เพราะฟันที่รักษารากแล้วจะยังคงมีเบ้ากระดูกยืดฟันให้มีความมั่นคง และให้ความรู้สึกที่ดีกว่าการใส่ฟันปลอม



เครดิต : Kapook