เปิดรับขยะแลกไข่ 3ล้านตันท่วมกรุง (ไทยโพสต์)

กรมควบคุมมลพิษเผยเขตบางพลัดมีชาวบ้านร้องขยะตกค้างมากที่สุด พบขยะขวดน้ำพลาสติกเพิ่มขึ้น 10 เท่า พร้อมจัดกิจกรรมขยะแลกไข่และข้าวสาร รณรงค์ช่วยเก็บขยะ คาดหลังน้ำลดเตรียมพบวิกฤติขยะครัวเรือน 500 กก.ต่อคน หรือราว 3 ล้านตันใน กทม.

นายรังสรรค์ ปิ่นทอง ผู้อำนวยการสำนักจัดการขยะและกากของเสียอันตราย กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้รับการประสานจากทาง กทม. เรื่องการจัดการขยะที่ตกค้างในช่วงน้ำท่วมแล้ว โดยจะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่าง ทส. และ กทม. รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแผนการจัดการขยะอย่างถูกวิธี และจะแบ่งงานรับผิดชอบกันให้ชัดเจน ทั้งนี้ ในส่วนของ คพ.จะลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพน้ำในพื้นที่มีขยะตกค้างในจุดต่างๆ อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นทางบริษัท ปูนซีเมนต์ทีพีไอ จังหวัดสระบุรี ยื่นข้อเสนอให้การสนับสนุนเรื่องการนำขยะจากครัวเรือนนำไปเผาที่เตาเผาของโรงปูนแล้ว

นายรังสรรค์กล่าว่า ในแต่ละวันมีประชาชนโทร.เข้ามาร้องเรียนที่สายด่วน 1650 ของ คพ.จำนวนมาก โดยเฉลี่ย 20 สายต่อวัน ส่วนใหญ่เป็นเรื่องขยะที่ตกค้างใน กทม. เนื่องจากเจ้าหน้าที่ กทม.เข้าไปเก็บได้ไม่ทั่วถึง โดยเขตบางพลัดเป็นพื้นที่ที่มีขยะตกค้างมากที่สุด แม้ประชาชนจะเก็บรวบรวมมาไว้ตามสะพานจากซอยจรัญสนิทวงศ์ 52 จนถึงแยกบางพลัดก็ตาม นอกจากนี้ พื้นที่ที่มีขยะตกค้างรองลงมาคือ เขตบางแค สายไหม ดอนเมือง และภาษีเจริญ ซึ่งปัญหาที่พบคือ การเก็บขยะบางจุดมีเจ้าหน้าที่ไปเก็บ 3 วันต่อครั้งเท่านั้น

"กรมควบคุมมลพิษยังจัดกิจกรรมขยะแลกไข่ เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนเก็บขยะพวกกล่องโฟมและขวดน้ำพลาสติกที่พบว่ามีเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่าจากปริมาณขยะกลุ่มนี้ที่จะมีแค่ 1-2% ของปริมาณขยะ โดยเริ่มจัดกิจกรรมบริเวณเขตดอนเมือง รับแลกโฟม 20 ชิ้นกับไข่ไก่ 1ฟอง และขวดน้ำพลาสติก 20 ชิ้นกับข้าวสาร 2 กิโลกรัม โดยหลังจากนี้จะไปตั้งจุดรับแลกที่อาคาร คพ. ซอยพหลโยธิน 7 เขตพญาไท กทม. จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้" ผู้อำนวยการสำนักจัดการขยะและกากของเสียอันตรายเผย

นายวรศาสน์ อภัยพงษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า ปัญหาขยะที่ตกค้างในเขตพื้นที่น้ำท่วมนั้น ได้ประสานให้ทาง กทม.เตรียมนำตู้คอนเทนเนอร์มาไว้ในจุดประสบภัยอย่างเร่งด่วนแล้ว โดยจะต้องใช้เครื่องบีบอัดขยะเพื่อลดพื้นที่ในการจัดเก็บ เนื่องจากศูนย์กำจัดขยะของ กทม.ที่หนองแขม อ่อนนุช รองรับได้น้อยลง และไม่สามารถนำขยะจากน้ำท่วมที่มีปริมาณมากไปมารวมกันไว้ได้ อย่างไรก็ตาม คาดว่าหลังจากนี้เมื่อระดับน้ำลดลงจะมีขยะจากครัวเรือนปริมาณมากเฉลี่ย 500 กิโลกรัมต่อคน หรือราว 3 ล้านตัน

"ปัญหาน้ำเสียใน กทม.ขณะนี้ หลายพื้นที่มีน้ำเน่าเสีย เช่น เขตบางพลัด ดอนเมือง เนื่องจากระบบบำบัดน้ำเสียของ กทม.ยังไม่รองรับน้ำเสียได้ 100% ซึ่งระบบรับได้แค่ 9 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน จากน้ำเสียเฉลี่ยใน กทม.ประมาณ 3.2 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวันเท่านั้น ในเบื้องต้น คพ.ได้นำจุลินทรีย์น้ำ พด.6 มาแจกจ่ายให้ชาวบ้านนำไปบำบัด ซึ่งยังยืนยันว่าได้ผลมาแล้วจากหลายจังหวัด เช่น นครสรรค์ และพระนครศรีอยุธยา ซึ่งคุณภาพน้ำดีขึ้นมีค่าออกซิเจนละลาย 5 มิลลิกรัมต่อลิตร ส่วนพื้นที่ กทม.กำลังรณรงค์ให้นำ พด.6 ไปใช้ พร้อมทั้งมีชุดปฏิบัติการฉุกเฉินสารเคมี 2 ชุดลงตรวจสอบภาพน้ำก่อนและหลังนำจุลินทรีย์ใช้ด้วย" รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษเผย